บันทึกจากการเสวนา สีสันในควันไฟ: ชีวิตชาวมาลายูมุสลิมในเหตุการณ์ความไม่สงบ


ภาพ: วรเชษฐ เขียวจันทร์
วรเชษฐ เขียวจันทร์
มหาบัณฑิตสาขามานุษยวิทยา (2555)
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


สำหรับวันนี้ (25 เมษายน 2556) ผมได้เข้าไปฟังงานเสวนาวิชาการเรื่อง “สีสันในควันไฟ: ชีวิตชาวมาลายูมุสลิมในเหตุการณ์ความไม่สงบ” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นกิจกรรมคือการดูสารคดีสั้นเกี่ยวกับชาวมลายูมุสลิมบ้านดาโต๊ะ จังหวัดปัตตานี และฟังการบรรยายว่าด้วยหนังสือ Just Enough: A Journey into Thailand’s Troubled South โดย Mira Lee Manickam ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนโดย ดร. Alexander Horstmann จากสถาบันวิจัยภาษาฯ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผมไปนั่งอยู่ในห้องนั้นด้วยความสนใจ และเรื่องราวแรกที่ถูกถ่ายทอดมาคือ หนังสารคดี เกี่ยวกับชีวิต วัฒนธรรม ของพี่น้องมุสลิม ในจังหวัดปัตตานี ที่ทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ความน่าสนใจแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ทำธุรกิจอาหารทะเลและประมงต่อเนื่อง (ผมพูดเป็นทางการไปหรือเปล่า) เอาเป็นว่าภาพของคนกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่ทำข้าวเกรียบแห้งใส่ถุงขาย กับอีกกลุ่มคือชาวประมงที่หาปลาในทะเล เป็นเรือลากอวนขนาดเล็กที่ออกหาปลาตามแนวชายฝั่ง แล้วผมก็ดูเรื่องราวไปเรื่อยๆ ผมชอบจังหวะของดนตรี เสียง ทำนองของเครื่องดนตรีประจำถิ่นภาคใต้ หรือแม้กระทั่งเสียงจากสนามจริง ที่ทำให้เกิดจินตนาการมากมาย เช่นเสียงของเครื่องจักรชนิดหนึ่ง เอาไว้ตัดข้าวเกรียบแท่งที่แห้งได้ที่ ก่อนที่จะลงมือตัดให้เป็นแผ่นบางๆ เสียงกรึ๊บ กรึ๊บ กรึ๊บ ยังดังก้องอยู่ในหูของผมอยู่เลย แม้กระทั่งในตอนนี้ ผมดูหนังจบปรบมือให้กับความพยายามของ Mira ผู้หญิงต่างชาติ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เธออยู่ในพื้นที่ได้อย่างกลมกลืน และให้นิยามให้บุคคลที่เธอสนิทสนมว่า “เพื่อน” ทุกคำที่บอกกล่าว

มิร่า บอกว่า เรื่องราวในหนังสือและหนังสารคดี บอกเล่าประสบการณ์การลงพื้นที่ของเธอ และบอกเล่าประสบการณ์และเรื่องราวของเพื่อน พื้นที่ศึกษาของเธอ คือ บ้านดาโต๊ะ จังหวัดปัตตานี เธอสนใจเรื่อง กลุ่มวัยรุ่นชายชาวมุสลิม ผู้หลงไหลในดนตรีเฮฟวี่เมทอล เรื่องเพศวิถี การแบ่งแยกของผู้หญิงและผู้ชายและเรื่องวัฒนธรรม รวมถึงการละเล่นลิเกฮูลูของกลุ่มวัยรุ่น เรื่องราวมากมายถูกถ่ายทอดผ่านหนังสือเรื่อง Just Enough: A Journey into Thailand’s Troubled South เธอบอกว่าทำไมเธอถึงตั้งชื่อเรื่องว่า “Just Enough” เพราะว่าเธอเคยถามกลุ่มวัยรุ่นดนตรีเฮฟวี่ ว่าไม่ออกไปเรียนข้างนอกหรือไปทำงานที่อื่นหรือ กลุ่มวัยรุ่นกลุ่มเดิมเล่าว่า ไม่อยากไปทำงานที่อื่น อยากใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่บ้านเกิด เธอจึงเอาคำดังกล่าวมาตั้งชื่อเรื่องหนังสือ ผมเองยังไม่ได้อ่านหนังสือหรอก ส่วนเธอเองก็ไม่ได้เล่าเรื่องราวอะไรมากนักจากหนังสือที่เธอถืออยู่ในมือ ซึ่งในตอนท้ายเธอบอกว่า หนังสือเล่มดังกล่าวของเธอเป็นหนังสือที่บันทึกประสบการณ์ส่วนตัวตอนที่ไปอยู่ในพื้นที่ ไม่ได้เป็นงานวิชาการ เป็นเหมือนบันทึกประสบการณ์ของเธอ แบ่งออกเป็นตอนสั้นๆ 30 ตอน “หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือส่วนบุคคล ประสบการณ์ตนเอง ให้คนอื่นรู้จักเพื่อนของฉัน”

การเสวนาเหมือนการพูดคุยไปเรื่อยๆ บอกเล่าประสบการณ์ที่งดงามของเธอในคราที่ไปอยู่ในพื้นที่ของพี่น้องชาวมุสลิม ซึ่งเน้นเรื่องกลุ่มวัยรุ่นที่อยู่ในหมู่บ้านดาโต๊ะ เธอเข้าไปทำความรู้จักหมู่บ้านนี้ในประเด็นที่ไม่ได้ปะติดประต่อมากนัก แต่ว่าเธอได้มีโอกาสไปเล่นฟุตบอลกับกลุ่มวัยรุ่น เธอบอกว่าเป็นวิธีการเดียวที่สามารถทำลายกำแพงด้านภาษาลงไปได้ ดังนั้นเธอไปรู้จักกลุ่มวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่ชื่นชอบดนตรีเฮฟวี่ เมทอล เธอบอกว่ากลุ่มวัยรุ่นผู้ชายในหมู่บ้านแบ่งออกได้เป็นสามประเภทคือ วัยรุ่นกลุ่มร็อคใต้ดิน วัยรุ่นเพื่อชีวิต วัยรุ่นลิเกฮูลู แล้วเธอก็อธิบายมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่เธอเน้นย้ำว่า กลุ่มวัยรุ่นที่สนใจดนตรีเฮฟวี่เมทอลนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีฐานะค่อนข้างดีในชุมชน “ไม่งั้นพวกเขาไม่มีเวลาว่างอย่างนี้หรอก คือกลุ่มนี้พ่อแม่ไม่ได้ยากจน เพราะว่าถ้ายากจนจะไม่อยู่เฉยๆขนาดนี้” เธอกล่าวขึ้นด้วยน้ำเสียงจริงจัง เธอบอกว่า หลายคนที่สนใจดนตรีชนิดนี้เป็นกลุ่มที่พ่อแม่ทำธุรกิจข้าวเกรียบในหมู่บ้าน ส่วนกลุ่มที่หาปลา ทำการประมงไม่ได้สนใจหรือมีโอกาสเท่าไหร่ ซึ่งกลุ่มที่สนใจลิเกฮูลูและเพื่อชีวิต เป็นกลุ่มที่พ่อแม่ทำประมง ซึ่งพวกเขาจำเป็นต้องไปดูแลพ่อแม่

ผมก็ฟังไปเรื่อยๆ ได้ประเด็น มองเห็นเรื่องราว จนกระทั่ง ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนมิติความสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่น เขากล่าวว่า กระแสการตีความศาสนาอิสลามที่เข้มงวดมีผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพศถูกควบคุมมากขึ้น (เช่น เด็กวัยรุ่นชายจับกลุ่มแซวเด็กวัยรุ่นหญิงน้อยลง มีการเที่ยวหรืออยู่กันสองต่อสองลดลง) แต่ไม่ได้ส่งผลอย่างตรงไปตรงมาให้เด็กวัยรุ่นชายรวมตัวกันทำกิจกรรมอื่นแทน อีกทั้งกิจกรรมเล่นกีฬาและฟังดนตรีเป็นกิจกรรมที่เด็กวัยรุ่นชายทำมาแต่ไหนแต่ไร ส่วนการรวมกลุ่มกันเสพ “ของต้องห้าม” ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ความแตกต่างอาจอยู่ที่ว่าการร่วมเสพของต้องห้าม อาจเป็นผลมาจากการที่ข้อห้ามเรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความเข้มงวดขึ้นตามกระแสความเคร่งครัดในศาสนาอิสลาม จึงทำให้วัยรุ่นชายบางกลุ่มต้องหันมารวมกลุ่มเป็นการทดแทน กับอีกประการก็คือจำนวนคนที่รวมกลุ่มมีมากและจำนวนครั้งก็เพิ่มมากขึ้นจนส่งผลให้พวกเขามีเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นลดลง (ซึ่งวกกลับมารวมเรื่องการจีบสาวด้วย) อีกประเด็นที่ ดร.อนุสรณ์ กล่าวไว้ก็คือ ประเด็นความเป็นเพื่อน “ผมคิดว่าส่วนหนึ่งในความเป็นเพื่อน ของพี่น้องชาวมุสลิมคือ ความจริงใจ และความไว้วางใจ ดังเช่นเหตุการณ์ไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่ง เกิดจากความไม่ไว้วางใจในรัฐไทยเหมือนกัน”

หนึ่งในผู้เข้าฟังการเสวนาครั้งนี้ คือคุณอังคนา นีละไพจิตร (ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร) ถามกับมิร่า ว่า เธอมีความคิดเห็นอย่างไรของกลุ่มผู้หญิงมุสลิมและความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มผู้หญิง ในพื้นที่ การที่วัฒนธรรมประเพณีบางอย่างก็ไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนาในตัวผู้หญิง เพราะผู้หญิงถูกทำให้เกิดความเชื่ออย่างเดียว ไม่มีโอกาสได้วิเคราะห์หรือแสดงความคิดเห็นเอง ดังนั้นจึงแยกไม่ออกว่าเป็นอัตลักษณ์หรือศาสนา ถือว่าเป็นความทุกข์ยากอย่างหนึ่งของกลุ่มผู้หญิง เป็นความซับซ้อนในพื้นที่ ที่ยากจะมีหนทางคลี่คลายหรือทำความเข้าใจได้อย่างง่าย
มิร่าตอบคำถามนั้นด้วยอาการคิดนาน เนื่องจากเธอเองมาจากสังคม วัฒนธรรมที่มีชาวอเมริกัน ซึ่งชีวิตของผู้หญิงอย่างเธอมีความอิสระเสรีพอสมควร ช่วงแรกๆ ที่เธอมาอยู่ในพื้นที่เธอเองรู้สึกอึดอัดเหมือนกัน ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุดสำหรับเธอต่อการทำความเข้าใจ “ฉันเป็นผู้หญิงที่สามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง แต่ตอนนี้ฉันเห็นผู้หญิงที่มีข้อจำกัดมากมาย ทั้งๆที่ผู้หญิงเรียนเก่งกว่าผู้ชาย เท่าที่ฉันเห็น ผู้หญิงเยอะกว่าผู้ชาย ผู้หญิงถูกคาดหวังจากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ ผู้หญิงมีความรับผิดชอบมาก” เธอกล่าวขึ้นมาด้วยน้ำเสียงอัดอั้นและอึดอัด เธอย้ำอีกว่า เท่าที่เธอเห็นในหมู่บ้านดาโต๊ะ ผู้หญิงจะทำงานมากกว่าผู้ชาย โดนเฉพาะอย่างยิ่ง การทำข้าวเกรียบ มีแต่ผู้หญิงทำอยู่ เพราะงานนี้ไม่ใช่งานของผู้ชาย เธอมองว่า ผู้หญิงยังประสบปัญหาความลำบาก และยังถูกกดขี่อยู่ทั้งนั้น

ส่วนผมเองก็ได้ชวนแลกเปลี่ยนกับมิร่า เช่นเดียวกัน ผมสนใจในพื้นที่ปัตตานี เนื่องจากผมได้มีโอกาสไปทำการศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นการจัดการระบบสุขภาพในชุมชน พื้นที่ที่ผมได้ลงไปทำงานคือ ตำบลยาบี ในจังหวัดปัตตานีเช่นเดียวกัน ประเด็นอยู่ที่ว่าในพื้นที่ตำบลยาบี เองมีการพูดถึงมาตรการทางสังคม ที่เกิดจากกลุ่มผู้นำได้สร้างระเบียบปฏิบัติเอาไว้ เป็นกติกาทางสังคม เช่น ผู้หญิงห้ามออกจากบ้านหลังสามทุ่ม ผู้ชายห้ามออกจากบ้านหลังสามทุ่มครึ่ง ร้านน้ำชาในหมู่บ้านห้ามปิดเกินห้าทุ่ม หรือแม้กระทั่งการเฝ้าระวังเรื่องการรวมกลุ่มของเด็กวัยรุ่นผู้ชาย ที่มักจะไปรวมกลุ่มกันต้มน้ำกระท่อม ถือว่ามาตรการหรือกติกาทางสังคมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่เป้าหมายการจัดการสุขภาพในชุมชนเช่นเดียวกัน ผมถามมิร่าว่าในพื้นที่บ้านดาโต๊ะ มีหรือเปล่า มิร่าตอบด้วยการงงในคำถามด้วยว่า “จริงๆ มีหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่ไม่เคยได้ถามเรื่องนี้อย่างชัดเจน”

ส่วนเมื่อมิร่าและ ดร.อนุสรณ์ ได้พูดถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มวัยรุ่นและประเด็นเพศวิถี ผมได้แลกเปลี่ยนจากพื้นที่หนึ่งที่ผมเคยได้มีโอกาสไปศึกษา เรื่องประเด็นการท้องไม่พร้อมของกลุ่มวัยรุ่น เมื่อทางศาสนาเคร่งครัดและชุมชนเองมีความเคร่งครัด เมื่อผู้ชายกับผู้หญิงมีความเพลี่ยงพล้ำไป ทำให้เกิดการท้องไม่พร้อมของกลุ่มวัยรุ่นเกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งยังไม่ได้ท้อง เพียงแค่มีความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาว ทำให้เกิดการบังคับให้แต่งงานขึ้น คำถามคือว่า การแต่งงานในลักษณะนี้ ที่แต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย และเป็นแม่ตั้งแต่อายุยังน้อย หรือแม้กระทั่งมีการเลิกรา จนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือมีแฟนใหม่ จนมีการแต่งงานใหม่ ประเด็นเพศวิถีแบบนี้ มิร่ามองเห็นเป็นอย่างไร คิดเห็นอย่างไร หรือมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ้างหรือเปล่าในหมู่บ้านที่มิร่าไปศึกษา เธอตอบอย่างฉะฉานว่า “เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเหมือนกัน เช่นเด็กอายุ 16 ปี แต่งงานและมีลูกแล้ว แต่จริงๆแล้วไม่ค่อยได้เน้นเรื่องนี้เท่าไหร่ในพื้นที่ เลยไม่ค่อยได้ถามเพื่อเจาะลึกเรื่องนี้ ก็สิ่งที่เห็นก็มีการแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย เลิกกันง่าย มีลูกหลายคน และเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่พอสมควร ส่วนถ้าเป็นเด็กกำพร้า ที่พ่อแม่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ สำหรับในบ้านดาโต๊ะ ไม่พบเด็กกำพร้าจากเหตุการณ์นั้น”

ผมเองไม่ได้มีข้อคิดเห็นมากมาย หรือไม่มีข้อสรุปใด ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นคือความตั้งใจของมิร่า ผู้พยายามทำความเข้าใจพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย เรียนรู้วิถีชีวิตของพี่น้องชาวมุสลิมอย่างกลมกลืน เปรียบเสมือนผู้ร่วมประสบการณ์ของเธอเป็น “เพื่อน” สำหรับผมแล้วถือว่าประทับใจมิร่า มุมมอง วิธีคิด และที่สำคัญเธอทำหนังสารคดีได้น่าสนใจ ชวนน่าติดตาม ไม่รู้เธอจะเผยแพร่ช่องทางไหนบ้าง แต่ผมอยากดูอีก เพราะผมคิดว่า การมองพื้นที่ ผู้คน วัฒนธรรมและชีวิต ผ่านการเดินทางและสายตา ของเธอน่าสนใจไม่น้อย