คน สัตว์ สิ่งของ: ความหมายและความสัมพันธ์ไม่รู้จบ

ส่วนหนึ่งของหนังสือที่ระลึกสำหรับผู้มาร่วมงานสัมมนาวิชาการและนิทรรศการ
เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

ปก: ชุติมาศ เลิศศิรรังสรรค์


บทนำ

สุดแดน วิสุทธิลักษณ์
บรรณาธิการ


เมื่อเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2554 เหนือที่ราบภาคกลางของประเทศ ภูมิทัศน์ของจังหวัดปทุมธานีและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตในช่วงเวลานั้นก็แทบจะมีแต่ฟ้ากับน้ำ

ตำนานการสร้างโลกของกลุ่มคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักกล่าวถึงเมื่อครั้งน้ำท่วมโลก บ้างว่า แถน ซึ่งอยู่ “เมืองบน” บันดาลให้น้ำท่วม “เมืองลุ่ม” เพื่อทำลายคนเดิมๆ เสียสิ้น ก่อนที่จะสร้างฝูงคน พันธุ์ข้าว พันธุ์ปลา และสัตว์ชนิดต่างๆ ขึ้นมาใหม่ หลังจากนั้นก็ส่งบรรพบุรุษลงมาจากฟ้าเพื่อสอนการทำนา ปลูกพืชผล ทอผ้าและตีเหล็ก

ตามความเชื่อดังกล่าว ผู้คน สัตว์และสิ่งของจึงเกิดขึ้นพร้อมๆกัน หลังน้ำท่วมใหญ่ คนเป็นผู้ให้ความหมายกับสิ่งอื่นรอบๆตัว อันเป็นที่มาของ อารธรรม-วัฒนธรรม และนับแต่นั้น ความหมายและความสัมพันธ์อันไม่รู้จบของ คน สัตว์ และสิ่งของจึงเริ่มต้นขึ้น

สิ่งของในพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจำนวนกว่า 6,000 ชิ้น ส่วนหนึ่งเป็นสิ่งของสะสม “คลายความเครียด” และเป็น “งานอดิเรก ที่เอาจริง” ของ ดร.วินิจ วินิจนัยภาคและคุณหญิงพรรณี วินิจนัยภาค อีกส่วนหนึ่งมาจากการขุดค้นทางโบราณคดี การศึกษา วิจัยภาคสนามของอาจารย์และนักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีกส่วนหนึ่งได้รับมาจากการบริจาค เส้นทางและที่มาของสิ่งของแต่ละชิ้นจึงมีเรื่องราวเฉพาะตน

เศียรพระราม นางสีดาและหนุมานของโรงหนังเฉลิมไทย ที่ผู้รับเหมากำลังจะรื้อทิ้ง ถูกซื้อมาด้วยราคาแพง ด้วยเหตุที่ผู้ซื้อมีความหลังเคยไปดูละครและหนังที่เฉลิมไทยและต้องขึ้นบันใดผ่านเศียรทั้งสามเมื่อวัยหนุ่ม จึงตั้งใจซื้อมาเก็บรักษาไว้ “เพื่อให้คู่รักหรือเคยรักหรือเคยจะรักหลายแสนคู่ เห็นสามเศียรนี้ระลึกถึงความหลังขณะดูละคร”

ตู้ไม้เก่า ในพิพิธภัณฑ์ฯ คงถูกผู้เข้าชมมองผ่านเลยไป ถ้าไม่เคยรับรู้ถึงที่มาของตู้ใบนั้นว่า เป็นตู้อ้อยขวั้นของ “แม่กลอยผ่านฟ้า” ในสมัยรัชกาล ที่ 7 ผู้สะสมเขียนเล่าไว้ว่า

“แม่กลอยผ่านฟ้า ขาย(อ้อยขวั้น)อยู่ตรงข้ามมูลนิธิเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี หม่อมเจ้าหนุ่ม ขุนนางชอบไปซื้อและจีบแม่กลอย หรือไม่ก็ซื้ออ้อยแล้วก็นั่งดูความงามแม่กลอย แม่กลอยอายุ 17-18 ขาวท้วม ใส่เสื้อคอกระเช้า เปิดฝาตู้ (ฝาอยู่ข้างบนตู้) หยิบอ้อย หนุ่มๆ ก็หยุดหายใจ พอแม่กลอยปิดฝาตู้ ก็ถอนหายใจไปพร้อมๆกัน”

ของสะสมอีกชิ้นหนึ่ง คือ อิฐจากกำแพงกรุงศรีอยุธยาที่ถูกขนมาสร้างกำแพงกรุงเทพฯ ซึ่งได้มาจากการขุดทำท่อที่หน้าวัดเทพธิดาราม ชวนให้คิดถึงพลัง-อำนาจของสิ่งของที่มีต่อมนุษย์ ดังเรื่องเล่าถึงชะตากรรมของคนขุดกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ อยุธยา ที่คนหนึ่งสวมเครื่องทองที่ขุดได้มายืนรำอยู่หน้าตลาด ส่วนอีกคนหนึ่งที่ได้พระขรรค์ของกษัตริย์ไปก็ถูกภรรยาแทงจนเสียชีวิต

เรื่องเล่าเกี่ยวกับสิ่งของ 25 +1 ชิ้น ที่จะได้อ่านต่อไปนี้ ถือเป็นการชุบชีวิตและให้ความหมายแก่สิ่งของจำนวนหนึ่งจากคลังสะสมของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ฯ ภายหลังน้ำท่วมใหญ่ ผู้เขียนเลือกของแต่ละชิ้นโดยสมัครใจพร้อมกับเล่าเรื่องถึงของชิ้นนั้นๆ ผ่านผัสสะ อารมณ์ และความรู้สึกนึกคิดของตนเอง เรื่องราวที่ปรากฎจึงเป็นทั้งเรื่องสิ่งของและเรื่องของผู้เล่าเองด้วยเช่นกัน

เรื่องเล่าของสิ่งของทั้งหมดนี้เกี่ยวพันกับเรื่องราวที่กว้างขวางและหลากหลาย ทั้งในเรื่อง ความคิด ความทรงจำ การลืม การบันทึก การลบทิ้ง อำนาจ ตัวตน เกียรติยศ ความมั่งคั่ง สุนทรียะ ความทุกข์และความไม่ยั่งยืนของชีวิต

เรื่องเล่าทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงความหมายและความสัมพันธ์อันไม่รู้จบของ คน สัตว์และสิ่งของ ขณะเดียวกัน ก็กล่าวได้อีกเช่นกันว่า เรื่องเล่าทั้ง 25+1 เรื่องนี้ เป็นการเล่าเรื่องของสิ่งของผ่านตัวตนของมนุษย์


อ้างอิง

ดร.วินิจ วินิจนัยภาค “การอนุรักษ์และการสะสมของเก่า” ใน หนังสือที่ระลึกในพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ วันพุธที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2533 กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2533

พ่อ แม่ ลูก อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ดร.วินิจ วินิจนัยภาค คุณหญิงพรรณี วินิจนัยภาค นางนิจพร จันทร 4 มิถุนายน พ.ศ.2534 กรุงเทพฯ: โมเดอร์น เพรส, 2534


อาคารพิพิธภัณฑ์ [pdf]
จันทนี เจริญศรี

ละอง-ละมั่ง:
ซากของชีวิตและชีวิตของซาก
[pdf]
สุดแดน วิสุทธิลักษณ์

กรงต่อนกคุ่ม:
สื่อท่องสองวัฒนธรรม
[pdf]
อนุสรณ์ อุณโณ

ขวานฟ้า-ขวานหินขัด [pdf]
พจนก กาญจนจันทร

มนุษย์-พุทธ(เจ้า) [pdf]
พิเชฐ สายพันธ์

รัก-ยม [pdf]
จิราภา วรเสียงสุข

หลงใหลได้ปลื้ม (fetish for)
….ลูกปัดทวาราวดี
[pdf]
จุฬารัต ผดุงชีวิต

เงินพดด้วง [pdf]
ลลิตา อัศวสกุลฤชา

เชี่ยนหมากถมทอง [pdf]
อุรฉัตร์ อุมาร์

กล้อง: ภาพถ่ายและการถ่ายภาพ [pdf]
เดชาภิวัชร์ นพมิตร

เครื่องบดกาแฟแบบมือหมุน [pdf]
ดุษฎีพร ชาติบุตร

สังข์ [pdf]
โรจน์ คุณเอนก

ลมพัดแรง-แรงพัดลม [pdf]
ศรัณย์ ทองปาน

ปืนไฟ [pdf]
วันเฉลิม ชุมเกื้อ

เหรียญสงคราม:
เกียรติยศและอุดมการณ์
[pdf]
อารีรัตน์ ปานจับ

ตราประทับกับการประทับตรา [pdf]
สุนีย์ ประสงค์บัณฑิต

สุรา เมระยะฯ: มนุษย์กับเบียร์
ในหน้าประวัติศาสตร์ “อารยธรรม”
[pdf]
สลิสา ยุกตะนันทน์

สลากกินแบ่งรัฐบาล:
ลุ้นเพื่อเรา พนันเพื่อชาติ
[pdf]
สายพิณ ศุพุทธมงคล

เรื่องเล่าถึง บ่าวนมนาง [pdf]
กนกรัตน์ กิตติวิวัฒน์

โปสการ์ด:
ภาพแทนความจริง
[pdf]
อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล

เครื่องบดยา [pdf]
พรทิพย์ เนติภารัตนกุล

แกรมโมโฟน [pdf]
ศรุพงษ์ สุดประเสริฐ

ลูกคิด: ตรรกะทางความคิดของมนุษย์
ที่ (กำลัง) หายไป
[pdf]
ธีระ สินเดชารักษ์

ระบอบพิมพ์ดีด:
คน อักษร แป้นพิมพ์ และสังคม
[pdf]
ยุกติ มุกดาวิจิตร

เขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียน [pdf]
ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล

“สนใจใคร่รู้”: ตู้ วัตถุ และชีวิตพิพิธภัณฑ์ [pdf]
พรรณราย โอสถาภิรัตน์